วันศุกร์ที่ 27 พฤศจิกายน พ.ศ. 2558

อบรมเชิงปฏิบัติการ “เทคนิคการสอนภาษาอังกฤษแบบบูรณาการทักษะ”

อบรมเชิงปฏิบัติการ เทคนิคการสอนภาษาอังกฤษแบบบูรณาการทักษะ” (วันที่ 29-30/10/2558)

วันที่ 29/10/2558 รอบเช้า
ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีทำให้เราติดต่อสื่อสารกันง่ายขึ้น ซึ่งตัวภาษาจะเป็นตัวสำคัญที่ทำให้เราสื่อสารกับชาวต่างชาติได้ จะเห็นได้ว่าทุกนโยบายจะมุ่งเน้นไปที่ทักษะทางภาษาอังกฤษ โดยต้องการที่จะเพิ่มทักษะภาษาอังกฤษให้กับเยาวชน ซึ่งในศตวรรษที่ 21 จะมีการเปลี่ยนบทบาทของครู เปลี่ยนจากครูสอนเป็น ผู้อำนวยความสะดวกในการเรียนรู้และรวมถึงการออกแบบการสอนด้วย โดยครูจะต้องมีวิทยายุทธ์และความพร้อมที่จะสอนทักษะให้แก่ผู้เรียน เราจะเรียนภาษาอังกฤษให้ประสบความสำเร็จได้นั้น เราจะต้องแม่นยำทั้งหลักเกณฑ์ และทักษะทางภาษา ซึ่งในการเรียนรู้ภาษานั้นเราจะต้องสนใจ ใฝ่ถาม จำชัด ปฏิบัติได้ และถ่ายทอดเป็น  ในการอบรมช่วงเช้าวันที่ 29/10/58จะมีการพูดคุยเกี่ยวกับงานวิจัยในหัวข้อ beyond languages learning เรื่องการพัฒนาทักษะการวิเคราะห์รวมถึงทักษะที่ใช้ในการดำเนินชีวิตในศตวรรษที่21
                การเรียนการสอนภาษาอังกฤษในปัจจุบันจะเรียนมากกว่าการเรียนเพื่อสื่อสารเพียงอย่างเดียว จะเห็นได้ว่าในการเรียนการสอนของต่างประเทศมีการพัฒนาอยู่ตลอดเวลา จะไม่เน้นไปที่ CLT (communicative language teaching)เพียงอย่างเดียว ประเทศของเขาจะมีการเรียนการสอนแบบใหม่ๆเกิดขึ้นอยู่เสมอ เช่น Content Based Learning ,  Project Based Learning, Problem Based Learning ซึ่งจุดประสงค์ของการเรียนรู้ก็คือ ผู้เรียนจะต้องใช้ภาษาอังกฤษเป็นเครื่องมือที่จะใช้หาความรู้ในวิชาอื่นๆได้ด้วย คุณลักษณะจำเป็นของคนในศตวรรษที่21 ที่จะใช้ในการเรียนรู้ จะประกอบด้วย 7c และจะต้องมีความสามารถพื้นฐานอีก3 ก็คือ ความสามารถในการอ่าน การเขียน การคิดคำนวณ ซึ่งการอ่านและการเขียนมีความสำคัญมาก เพราะเราจะเห็นได้ว่าทุกวันนี้ เราได้ข้อมูลข่าวสารจากการอ่าน แต่จะเห็นได้ว่าผู้เรียนในยุคใหม่ จะขาดการวิเคราะห์ ในการรับข้อมูลข่าวสาร ผู้คนส่วนมากจะแชร์ข้อมูลกันต่อๆโดยไม่ได้วิเคราะห์ว่า สิ่งนั้นเชื่อได้หรือเปล่า เลยทำให้เกิดความวุ่นวายขึ้นในสังคม จึงได้เกิดการวิจัยเรื่องการพัฒนาทักษะการวิเคราะห์ขึ้น ซึ่งการพัฒนาการวิเคราะห์ให้แก่ผู้เรียนจะมีอยู่ 2 แบบ ก็คือบูรณาการเข้ากับกิจกรรมในชั้นเรียนและการใช้ชุดฝึก ให้เด็กฝึกด้วยตนเอง การที่ผู้เรียนจะวิเคราะห์ได้นั้น ผู้เรียนจะต้องมีความสามารถย่อยๆดังนี้ 1. การจำแนกคือการแยกออกมาเป็นตัวย่อยๆได้ 2. การจัดกลุ่มคือการเอาสิ่งที่แยกเป็นกองๆมาจัดกลุ่มใหม่ โดยจะต้องใช้เกณฑ์ในการจัดกลุ่ม 3. การเชื่อมโยงความสัมพันธ์ ว่ามีความสัมพันธ์กันอย่างไร เช่น เหมือนหรือต่าง 4. การวิเคราะห์สภาพ ข้อคิด หรือความสำคัญ 5. การพยากรณ์ คาดคะเน คาดการณ์ ซึ่งทั้งสามตัวนี้จะมีความแตกต่างกันก็คือ การพยากรณ์จะเป็นการเอาข้อมูลเชิงวิชาการมายึดเป็นหลักในการพยากรณ์ การคาดคะเนจะเกี่ยวกับตัวเลขโดยการนำตัวเลขมาคำนวณหาค่า ส่วนการคาดการณ์ก็คือการดูแนวโน้มที่จะเกิดขึ้นนั่นเอง
จากการอบรมในช่วงเช้าดิฉันได้ความรู้เกี่ยวกับการการวิเคราะห์ ซึ่งเป็นตัวสำคัญมากที่เราจะต้องฝึกอยู่บ่อยๆ เช่นเมื่อว่าเราอ่านข่าวเราก็ต้องวิเคราะห์ก่อนว่าข่าวนั้นเชื่อถือได้หรือไม่ และในอนาคตที่เราจะออกไปสอนเด็ก เราจะมีวิธีฝึกอย่างไรให้เด็กเกิดการวิเคราะห์ได้ ซึ่งงานวิจัยเรื่องนี้จะเป็นแนวทางที่เราสามารถนำความรู้ที่ได้ไปประยุกต์ใช้ในการสอนเด็กได้ และได้ความรู้ในเรื่องคุณลักษณะของคนในศตวรรษที่21 ที่จะใช้ในการดำรงชีวิตและการเรียนรู้ หลักๆก็คือเราจะต้องคิดอย่างมีวิจารณญาณ  สร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆ พัฒนานวัตกรรม เรียนรู้วัฒนธรรมของชาติอื่นๆ ทำงานกันเป็นทีมเวิร์คฝึกการเป็นผู้นำและผู้ตาม และการรู้เท่าทันสื่อ

วันที่ 29/10/2558 รอบบ่าย
โลกมีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา ทุกสิ่งก็ต้องปรับเปลี่ยนไปตามการเปลี่ยนแปลงของโลก ภาษาก็เช่นกัน ซึ่งการเปลี่ยนแปลงภาษานั้นมีสาเหตุมาจากการตอบสนองความต้องการของมนุษย์เพื่อให้มีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น จะ ประกอบไปด้วย ความอยู่รอด, ความปลอดภัย, การเข้าสังคม, ความมั่นใจ, ความสุขสงบของชีวิต และตัวที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงภาษามากที่สุดก็คือ อินเตอร์เน็ต ในการอบรมช่วงบ่ายของวันที่29/10/58 มีการอบรมเกี่ยวกับ คำทับศัพท์ภาษาอังกฤษ และครูสอนภาษาอังกฤษในศตวรรษที่21
จะเห็นได้ว่าในปัจจุบันนี้คนไทยใช้คำทับศัพท์ภาษาอังกฤษในชีวิตประจำวันมากขึ้น เช่นคำว่า chill chill , over, out  เป็นต้น ซึ่งถ้าเราเอาคำเหล่านั้นไปพูดกับชาวต่างชาติ เขาจะงงมาก เพราะคำเหล่านั้นจะไม่มีอยู่ในภาษาอังกฤษ อย่างเช่นคำว่าout (เอ้าต์) จริงๆแล้วคำนี้มาจากคำเต็มๆว่า out of date มันอาจจะยาวเกินไปเลยทำให้คนไทยตัดเหลือแค่ out เพื่อให้ง่ายต่อการพูด ซึ่งในบริบทของคนไทย out จะแปลว่า ล้าสมัย แต่ถ้าเราไปพูดกับชาวต่างชาติว่า out นั่นจะกลายเป็นว่าเราไล่ให้เขาออกไป  ซึ่งในยุคนี้จะมีวิวัฒนาการของภาษาเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ มีคำศัพท์ใหม่ๆเกิดขึ้นมากมาย ดังนั้นเราจะต้องเรียนรู้คำศัพท์ใหม่ๆอยู่ตลอดเวลา เพื่อที่จะได้นำมาใช้ได้อย่างถูกต้อง ในศตวรรษที่ 21 จะเห็นได้ชัดว่าการเรียนการสอนนั้นจะเน้นให้เด็กลงมือทำด้วยตัวเอง ส่วนครูจะเป็นเพียงผู้อำนวยความสะดวกและชี้แนวทางให้แก่ผู้เรียน เพื่อให้ผู้เรียนสามารถนำต่อยอดในการเรียนรู้ด้วยตัวเองได้ การเป็นครูสอนภาษาอังกฤษในศตวรรษที่21จะต้องมีลักษณะดังนี้ 1. แม่นยำทั้งเนื้อหาและทักษะ 2. ต้องมีความใฝ่รู้อยู่ตลอดเวลา 3. มีการจัดการเรียนการสอนภาษาอังกฤษอย่างบูรณาการ  4. มีการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ภาษาอังกฤษเพื่อเสริมประสบการณ์ให้กับผู้เรียน ได้แก่ เรียนภาษาอังกฤษจากสิ่งรอบตัว การเล่นเกม การร้องเพลง การเล่านิทาน การวาดภาพ การแสดงบทบาทสมมุติ การท่องคำคล้องจอง 5. ออกแบบและสร้างสื่อได้ภาษาอังกฤษได้ 6. ใช้นวัตกรรมการเรียนการสอนภาษาอังกฤษได้ และยังมีอีกข้อหนึ่งที่วิทยากรได้ย้ำไว้ก็คือการสอนออกเสียงภาษาอังกฤษ โดยครูผู้สอนจะต้องมีความรู้เรื่องในเรื่องของสัทศาสตร์ เพื่อที่จะใช้ในการช่วยแก้ไขการออกเสียงที่ผิดพลาดของผู้เรียน
ในการฝึกอบรมรอบบ่ายของวันที่29/10/58 ดิฉันได้เรียนรู้เกี่ยวกับคำทับศัพท์ภาษาอังกฤษ ได้รู้คำศัพท์ใหม่ๆ ได้รู้ที่มาของคำศัพท์ ได้ความรู้เกี่ยวกับครูสอนภาษาอังกฤษในศตวรรษที่21ว่าต้องความรู้ทางด้านไรบ้างและได้ฝึกการออกเสียงภาษาอังกฤษ โดยวิทยากรจะสอนให้อ่านออกเสียงตั้งแต่พยัญชนะ-สระ แล้วไประดับคำ ถัดไปก็อ่านระดับประโยค เราจะต้องออกเสียงให้ชัดเจนและถูกต้อง เพราะถ้าเราออกเสียงไม่ถูกต้องจะทำให้ความหมายของประโยคๆนั้นเปลี่ยนไป เช่น I’ve got six. (ฉันได้ 6 คะแนน) แต่ถ้าเราลืมออกเสียง /S/ ที่ท้ายคำ มันจะเปลี่ยนความหมายทันที ผู้ฟังจะได้ยินเป็น sick. ที่แปลว่าป่วย การเน้นเสียงก็เหมือนกัน ถ้าเราเน้นเสียงผิดที่ความหมายของประโยคนั้นก็จะเปลี่ยนเช่นกัน ซึ่งในระหว่างการอบรมวิทยาก็จะนำเกมปริศนาคำไขว้ จากการเล่นเกมเราได้การฝึกความเร็วในการหาคำศัพท์และได้บริหารสายตาอีกด้วย

วันที่ 30/10/2558 รอบเช้า
การเรียนรู้ในศตวรรษที่ 21 เป็นการกำหนดแนวทางยุทธศาสตร์ในการจัดการเรียนรู้ โดยเน้นที่องค์ความรู้ ทักษะ ความเชี่ยวชาญและสมรรถนะที่เกิดกับตัวผู้เรียน เพื่อที่จะนะไปใช้ในการดำรงชีวิตในสังคมที่เปลี่ยนแปลงไป การสอนที่จัดว่ามีประสิทธิภาพนั้น ครูต้องมีลักษณะของผู้ที่สามารถชี้แนะการเรียนรู้ และพาผู้เรียนไปสู่โลกแห่งการเรียนรู้ได้ ในการจัดการเรียนรู้นั้นก็ต้องมีความสัมพันธ์ มีขั้นตอนและกระบวนการที่เป็นลำดับที่ผู้เรียนสามารถมีส่วนร่วมในการเรียนการสอนได้ จากการปฏิรูปการเรียนการสอน ครูจึงต้องเปลี่ยนวิธีสอนเพื่อให้สอดคล้องกับแนวทางที่กำหนดไว้
ปัจจุบันการสอนภาษาอังกฤษได้มีวิวัฒนาการ และมีวิธีการสอนหลากหลายวิธี  ซึ่งวิธีการสอนจะถูกแบ่งย่อยออกเป็น4กลุ่ม ดังนี้ 1. เน้นกฎเกณฑ์ของภาษา ได้แก่ 1.1 วิธีสอนแบบไวยากรณ์และแปล วิธีนี้จะเน้นผู้เรียนอ่าน ท่องจำและความถูกต้องในการใช้ภาษา 1.2 วิธีการสอนแบบตรง วิธีนี้จะเน้นให้ผู้เรียนใช้ภาษาอังกฤษในการสื่อสารได้ 1.3 วิธีการสอนแบบฟัง-พูด วิธีนี้จะเน้นการฟังและพูด ซึ่งจะมีเรื่องวัฒนธรรมเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย 2. เน้นการปฏิสัมพันธ์ ได้แก่ 2.1 วิธีสอนแบบเงียบ วิธีนี้จะเน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ  ผู้สอนจะต้องพูดให้น้อยที่สุด เพื่อเป็นการฝึกให้ผู้เรียนใช้ความคิดที่จะค้นพบกฎเกณฑ์จากการลงมือทำด้วยตัวของเขาเอง 2.2 วิธีการสอนแนวธรรมชาติ เป็นวิธีการสอนที่ผู้เรียนเกิดการรับรู้ได้เองตามธรรมชาติ โดยไม่ต้องมีใครมาสอน 2.3 วิธีการสอนแบบชักชวน เป็นวิธีที่สอนเพื่อให้ผู้เรียนเกิดการผ่อนคลายมากที่สุด 2.4 วิธีการสอนแบบตอบสนองด้วยท่าทาง วิธีนี้จะเน้นการฟังเพื่อให้เด็กเกิดความเข้าใจ และสามารถปฏิบัติตามได้ 2.5 การเรียนรู้แบบร่วมมือ วิธีนี้จะเน้นให้ผู้เรียนมีปฏิสัมพันธ์กับสมาชิกในกลุ่ม2.6 การเรียนรู้แบบเน้นภาระงาน วิธีนี้จะเน้นให้ผู้เรียนมีส่วนร่วมในการพัฒนาการเรียนการสอน 2.7 การเรียนรู้จากการทำโครงงาน วิธีนี้จะเน้นผู้เรียนเกิดการเรียนรู้ด้วยตัวเอง จากการลงมือปฏิบัติและแก้ไข้ปัญหาด้วยตนเอง 3. เน้นความเหมาะสมในการใช้ภาษา ได้แก่ 3.1 วิธีการสอนภาษาเพื่อการสื่อสาร วิธีนี้จะมุ่งเน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ โดยเริ่มจากการฟังไปสู่การพูด และจับประเด็นความสำคัญ แล้วก็ต้องทำความเข้าใจ จด แล้วจึงนำสิ่งที่ได้เรียนรู้ไปใช้ในสถานการณ์จริง 3.2 วิธีการสอนภาษาแบบกำหนดสถานการณ์ วิธีนี้จะเน้นที่ตัวผู้เรียนและผู้สอน 4. แบบบูรณาการเนื้อหาและภาษา ได้แก่  4.1 การสอนภาษาที่เน้นสาระการเรียนรู้ เป็นวิธีที่เอาเนื้อหามาบูรณาการกับจุดหมายของการสอน โดนสอนให้ผู้เรียนใช้ภาษาเป็นเครื่องมือในการเรียนรู้และสื่อสารได้ 4.2 การจัดการเรียนรู้แบบบูรณา วิธีนี้จะสอนให้ผู้เรียนเชื่อมโยงสิ่งที่เรียนเข้ากับชีวิตจริงและสร้างองค์ความรู้ด้วยตนเองได้ และยังมีวิธีการสอนอีกวิธีหนึ่งที่กำลังเป็นที่นิยมกัน ก็คือ การเรียนการสอนแบบ "ห้องเรียนกลับด้าน" ก็คือ ผู้เรียนเอาบทเรียนไปศึกษาด้วยตัวเองที่บ้าน ส่วนการบ้านนั่นจะมาเรียนกันในห้องเรียน
จากการอบรมรอบเช้าของวันที่ 30/10/58 ดิฉันได้ความรู้เกี่ยวกับการเรียนการสอนในศตวรรษที่21 การเปลี่ยนแปลงที่เห็นได้ชัดก็คือ ครูจะต้องใช้เทคโนโลยีให้เป็นและเน้นที่ตัวผู้เรียน โดยให้ผู้เรียนคิดและลงมือทำเอง ส่วนครูจะทำหน้าทีเป็นผู้ชี้แนะแนวทางและอำนวยความสะดวกให้ผู้เรียน และได้ความรู้เกี่ยวกับวิธีการเรียนการสอนที่ใช้สอนในศตวรรษที่21 ซึ่งมีมายมายหลากหลายวิธี จึงถูกแบ่งย่อยเป็น 4 กลุ่ม คือ 1. แนวการสอนภาษาอังกฤษที่เน้นกฎเกณฑ์ของภาษา 2. แนวการสอนภาษาอังกฤษที่เน้นการปฏิสัมพันธ์ 3. แนวการสอนภาษาอังกฤษที่เน้นความเหมาะสมในการใช้ภาษา 4. แนวการสอนภาษาอังกฤษแบบบูรณาการเนื้อหาและภาษา

วันที่ 30/10/2558 รอบบ่าย
ในการเรียนการสอนนั้น ครูจะต้องออกแบบการเรียนการสอนให้อยู่ในรูปแบบของกิจกรรม เพราะการทำกิจกรรมจะช่วยให้ผู้เรียนเรียนรู้ได้ดีกว่าการสอนเนื้อหาเพียงอย่างเดียว และการทำกิจกรรมยัง ช่วยให้ผู้เรียนได้ฝึกการคิด แก้ปัญหา การใช้เหตุผลและฝึกปฏิบัติเพื่อให้เกิดความคิดรวบยอดเกี่ยวกับเรื่องที่เรียน ช่วยให้เด็กได้สังเกต ได้ค้นพบด้วยตนเองผ่านกิจกรรม อีกทั้งยังทำให้ผู้เรียนสนุกกับบทเรียนอีกด้วย ดังนั้นครูภาษาอังกฤษจะต้องออกแบบกิจกรรมการเรียนรู้ โดยกิจกรรมนั้นต้องเหมาะกับเรื่องที่จะสอนด้วย ซึ่งในปัจจุบันก็มีหลายหลายวิธี เช่น การร้องเพลง การเล่านิทาน การวาดภาพ บทบาทสมมติ เล่นเกม ท่องคำคล้องจอง เป็นต้น ซึ่งกิจกรรมเหล่านี้จะปลูกฝังคุณธรรมจริยธรรมให้ผู้เรียนและทำให้ผู้เรียนมีปฏิสัมพันธ์ที่ดีกับผู้อื่น 
ในช่วงบ่ายวิทยากรได้จัดกิจกรรมให้ผู้เข้าอบรมได้เล่น กิจกรรมแรก คือ เล่นเกมส์ Tic Tac Toe (เป่ายิ้งฉุบ) โดยมีการร้องเพลงและการเต้นประกอบเพลงด้วย โดยวิทยากรจะเล่นให้ดูเป็นตัวอย่างก่อนพร้อมกับบอกกติกาในการเล่นเกม ซึ่งการเป่ายิ้งฉุบจะมีอยู่ได้ 3 แบบ คือ ค้อน (กำมือ) , กระดาษ (แบมือ) และกรรไกร (ยื่นเฉพาะนิ้วชี้และนิ้วกลาง)วิธีการเล่นมีดังนี้ ให้ผู้เข้าอบรมจับคู่แล้วร้อง Tic Tac Toe พร้อมเต้นตามเพลง ถ้าคนไหนเป้ายิ้งฉุบแพ้ให้ไปต่อหลังคนชนะ ทำแบบนี้ไปเรื่อยๆจนได้คนชนะเพียงคนเดียว กิจกรรมนี้ครูสามารถนำไปใช้กับเด็กปฐมวัยได้ เพราะกิจกรรมนี้จะช่วยส่งเสริมในเรื่องของการเคลื่อนไหวส่วนต่างๆของร่างกาย และเพลงนี้สอนให้เด็กได้รู้จักทิศทางการเคลื่อนไหว เช่น การเคลื่อนไปทางซ้าย ขวา หน้า และหลัง  อีกทั้งเด็กยังได้รู้คำศัพท์อีกด้วย กิจกรรมที่สอง คือ เล่านิทานภาษาอังกฤษ โดยเริ่มจากการหาคนมาเล่านิทาน วิทยากรจะใช้ลูกบอลเล็กๆประมาณ 20 ลูก ให้ผู้เข้าอบรมส่งลูกบอลต่อๆกันและเปิดเพลง แล้วเมื่อเพลงหยุด ลูกบอลอยู่ในมือใครให้คนนั้นออกมาเล่านิทาน กติกามีอยู่ว่า ให้ผู้เล่นแต่ละคนแต่งนิทานต่อๆกันโดยเนื้อหาการแต่งนั้นจะต้องมีความสอดคล้องกันทั้งเรื่อง กิจกรรมนี้ครูสามารถนำไปใช้กับเด็กมัธยมได้ โดยกิจกรรมนี้จะช่วยส่งเสริมในเรื่องของการการใช้ภาษา ความคิด จินตนาการ การเรียบเรียงเหตุการณ์ และยังเป็นกิจกรรมที่สร้างความสนุกสนานและผ่อนคลายอีกด้วย กิจกรรมต่อมาคือ กิจกรรมวาดภาพ โดยกิจกรรมนี้จะทำต่อจากการเล่านิทาน กติกามีอยู่ว่าให้ผู้เรียนจับกลุ่มกัน แล้วให้แต่ละกลุ่มวาดภาพจากนิทานที่เล่า กิจกรรมนี้เป็นการส่งเสริมความคิดสร้างสรรค์ การใช้จินตนาการ การทำงานเป็นทีม และกิจกรรมนี้ทำให้เห็นถึงความสามารถในการวาดภาพของผู้เรียนอีกด้วย และในตอนท้ายวิทยากรได้สอนในเรื่องของ ภาษาท่าทาง ในการติดต่อสื่อสารกัน นอกจากใช้ภาษาพูดและภาษาเขียนแล้ว ภาษาท่าทางก็มีความสำคัญเช่นกัน ซึ่งการใช้ภาษาท่าทางของแต่ละประเทศจะใช้เหมือนกันแต่ความหมายที่สื่อออกมานั้นจะต่างกัน ซึ่งถ้าเราเอาใช้แบบผิดๆจะทำให้เกิดความไม่ประทับใจได้ เช่น ยกนิ้วโป้งขึ้น ความหมายของประเทศไทยเราก็คือดีเยี่ยม แต่ถ้าเราไปยกนิวโป้งในรัฐเซีย เขาจะถือว่าไปดูหมิ่นเขา อาจโดนรุบกระตืบได้ ดังนั้นเราควรเรียนรู้ภาษาท่าทางและวัฒนธรรมของประเทศอื่นๆด้วย เพื่อที่จะไม่ให้เกิดความเข้าใจผิด
                จากการอบรมรอบบ่ายของวันที่ 30/10/58 ดิฉันได้เรียนรู้กิจกรรมต่างๆที่จะสามารถนำไปประยุกต์ใช้ในการสอนเด็ก ไม่ว่าจะเป็น การร้องเพลง การเล่านิทาน การวาดภาพ และการเล่นเกม เป็นต้น ได้เรียนรู้ภาษาท่าทางของประเทศต่างๆ และจากการทำกิจกรรมทั้งสามกิจกรรม ดิฉันได้รู้คำศัพท์ใหม่ๆ ได้ฝึกการคิด และที่สำคัญคือได้ฝึกการใช้ภาษาอังกฤษ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น